ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่การทำวิจัย ข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศ เนื่องจากสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่ามหาศาลเป็นเวลาต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก เห็นได้จากปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกของไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 30 – 31 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 20 ล้านตันข้าวสารต่อปี ซึ่งผลผลิตร้อยละ 55 ถูกใช้สำหรับบริโภคในประเทศ ที่เหลือจึงส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาโดยตลอด คือ มีปริมาณเฉลี่ยปีละ 8-9 ล้านตันข้าวสาร จากปริมาณค้าข้าวโลกเฉลี่ยปีละ 27 ล้านตันข้าวสาร แต่ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดส่งออกข้าวทำให้ประเทศไทยตกอันดับมาอยู่ที่ 3 ในปี พ.ศ.2555 โดยมีคู่แข่งที่สำคัญคือ ประเทศเวียดนาม และอินเดีย เนื่องจากต้นทุนการผลิตข้าวของประเทศคู่แข่งต่ำกว่าประเทศไทยค่อนข้างมาก ปัจจุบันเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคมอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้สะดวก รวดเร็ว มากขึ้น โดยเฉพาะการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (รัตนา ลีรุ่งนาวารัตน์, 2560) และการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศที่ผสมผสานเทคโนโลยีสารสนเทศและการทำงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดบริการแก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว สามารถเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำงานได้ครบถ้วน บันทึกข้อมูลเอาไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานนำข้อมูลมาใช้ในการทำงานได้สะดวก และมีการนำข้อมูลมาประมวลเป็นสารสนเทศเพื่อให้ผู้บริหารใช้ในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว (ครรชิต มาลัยวงศ์, 2544) ทำให้สามารถนำมาใช้ในการพยากรณ์ผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตได้ ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้มีแนวความคิดในการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับเกษตรกรรมแปลงใหญ่ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย
เพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับสถานะการณ์การเพาะปลูก การตลาด
และการใช้เทคโนโลยี ของการปลูกข้าวในปัจจุบัน วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย 1. เพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับสถานะการณ์การเพาะปลูก การตลาด และการใช้เทคโนโลยี ของการปลูกข้าวในปัจจุบัน 2. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับเกษตรกรรมแปลงใหญ่ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ขอบเขต 1.ขอบเขตด้านพื้นที่ การวิจัยครั้งนี้ให้ความสนใจกับพื้นที่การเกษตรในเขตภาคเหนือตอนบนโดยมุ่งเน้นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านขนาดของพื้นที่ในการปลูกข้าวและมีสัดส่วนเนื้อที่ความเหมาะสมต่อการปลูกข้าว ประกอบกับการมีกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการ นาแปลงใหญ่ ซึ่งตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ทำให้ได้พื้นที่ตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ พื้นที่ในจังหวัดพะเยา และ เชียงราย โดยเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างต้องมีความพร้อมในการให้ความร่วมมือเพื่อการศึกษาตามวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย นอกจากนี้พื้นที่ศึกษานั้นต้องมีอาณาเขตที่ใกล้เคียงกันในระหว่างหมู่บ้านและ/หรือตำบล หรือเป็นไปตามข้อกำหนดของแนวทาง นาแปลงใหญ่ เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผนการใช้พื้นที่ในทางปฏิบัติ 2.ขอบเขตด้านชนิดของพืชจากการคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่ ความเชี่ยวชาญของเกษตรกร เทคโนโลยีของหน่วยงานรัฐบาลที่ให้การส่งเสริมและความต้องการของตลาดการศึกษาครั้งนี้จึงพิจารณาพืชในกลุ่มข้าวดังต่อไปนี้ กลุ่มข้าวเจ้า คือ ข้าว กข15 ข้าวหอมมะลิ และ/หรือกลุ่มข้าวเหนียว คือ กข6 และ กข10 นอกจากนี้ เพื่อการสร้างแบบจำลองที่คลอบคลุมถึงรูปแบบการปลูกพืชแบบหมุนเวียน เพราะฉะนั้น จึงพิจารณาพืชทางเลือกอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งที่มีปลูกอยู่แล้วในพื้นที่และพืชที่มีความเหมาะสมตามคุณภาพของดินซึ่งมีส่วนช่วยเกื้อหนุนต่อผลิตภาพการปลูกข้าวตามคำแนะนำของรัฐบาล ตัวอย่างเช่น พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น
|